ภูมิคุ้มกันดี ด้วยโพรไบโอติกส์ (Probiotics)
หลายคนคงรู้จัก โพรไบโอติกส์ (probiotics) ในบทบาทของจุลินทรีย์ชนิดดีที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารส่วนกระเพาะและลำไส้ของมนุษย์ มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร รักษาสมดุลในลำไส้ และป้องกันอาการผิดปกติต่าง ๆ ของลำไส้ แต่ทราบหรือไม่ว่านอกจากประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้น โพรไบโอติกส์ยังมีประโยชน์ในระบบอื่น ๆ เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน โดยระบบภูมิคุ้มกันบริเวณลำไส้จะเชื่อมโยงกับระบบภูมิคุ้มกันของอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด เป็นต้น
ทำไมต้องรับประทานโพรไบโอติกส์เสริม
ถึงแม้ว่าโพรไบโอติกส์หรือจุลินทรีย์ชนิดดีจะมีอยู่ในลำไส้ของมนุษย์อยู่แล้ว แต่มีปัจจัยมากมายที่ทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ทำให้จุลินทรีย์ชนิดดีลดลง ได้แก่
- การรับประทานอาหารประเภทน้ำตาลและโปรตีนมากเกินไป
- การรับประทานยาปฏิชีวนะ
- การดื่มแอลกอฮอล์
- ความเครียด ความวิตกกังวล
- การมีสุขภาพในช่องปากที่ไม่ดี
ดังนั้น ควรปรับพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเหล่านี้ ร่วมกับการรับประทานโพรไบโอติกส์เสริมเพื่อปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ อย่างไรก็ตามการรับประทานโพรไบโอติกส์มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรรับประทานโพรไบโอติกส์ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ป่วยที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
โพรไบโอติกส์กับโควิด
โพรไบโอติกส์ ป้องกันโรคโควิดได้อย่างไร
โพรไบโอติกส์ที่รับประทานเข้าไปจะไปจับกับเยื่อบุลำไส้ และป้องกันการติดเชื้อโควิดผ่านทางกลไกดังต่อไปนี้
- สร้างสารต่าง ๆ ที่ช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันบริเวณลำไส้ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบภูมิคุ้มกันบริเวณทางเดินหายใจโดยตรง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- สร้างสารไปแย่งจับกับ angiotensin converting enzyme 2 (ACE 2) receptor ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับที่เชื้อโควิดไปจับเพื่อเข้าสู่เซลล์เยื่อบุ ทำให้เชื้อโควิดไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ได้
- โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ใดบ้างที่ช่วยป้องกันโรคโควิด
ผลการศึกษาโดยส่วนใหญ่พบว่าโพรไบโอติกส์ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด และสามารถลดระยะเวลาของโรค ลดความรุนแรงของอาการอ่อนเพลีย หอบเหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน และจมูกไม่ได้กลิ่นได้ โดยสายพันธุ์ของโพรไบโอติกที่ใช้ในการศึกษาคือ Bifidobacterium longum, Bifidobacterium animalis subsp. Lactis, Bifidobacterium bifidum, Lactobacillus rhamnosus, Lactobacillus acidophilus, และ Lactobacillus plantarum
โพรไบโอติกส์กับไข้หวัด
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้โพรไบโอติกส์มีจำนวนลดลง คือ ความเครียด และความวิตกกังวล ส่งผลให้ร่างกายมีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจากรายงานพบว่าอัตราการติดเชื้อไข้หวัดจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่ร่างกายเหนื่อยล้า เครียด และพักผ่อนไม่เพียงพอ
โดยจากการศึกษาทางคลินิกในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยในรัฐฟลอริดาจำนวน 581 คน พบว่ากลุ่มที่รับประทานโพรไบโอติกส์ Bifidobacterium bifidum เสริมเป็นเวลา 6 สัปดาห์ มีจำนวนวันที่มีอาการไข้หวัด และจำนวนวันที่รายงานอาการป่วยไข้หวัดน้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอก
จากบทความจะเห็นว่า แม้ว่าโพรไบโอติกส์ที่นำมาใช้ในการศึกษาจะมีหลายชนิดและหลายกลุ่ม แต่มีเพียงไม่กี่ชนิดที่มีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน Bifidobacterium bifidum เป็นหนึ่งในจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในด้านของการส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เนื่องจาก Bifidobacterium bifidum เป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่พบมากในลำไส้ของทารกที่ดื่มนมแม่ มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกัน และการดูดซึมสารอาหาร ซึ่งปริมาณของจุลินทรีย์กลุ่ม Bifidobacterium ในลำไส้จะลดลงตามอายุ ส่งผลให้เรามีระบบภูมิคุ้มกันที่แย่ลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
ดังนั้น หากคุณมีพฤติกรรมที่ส่งผลให้โพรไบโอติกส์ในร่างกายลดลง ร่วมกับมีประวัติการติดเชื้อโควิด หรือไข้หวัดอยู่บ่อย ๆ การรับประทานโพรไบโอติกส์เสริมอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายของคุณ ที่สำคัญอย่าลืมออกกำลังกาย รวมถึงรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น
WeNature
Your Daily Dose of Vitality
วันดี ๆ มีได้ทุกวันด้วยวีเนเจอร์