แชร์

PM 2.5 ภัยร้ายไม่ใช่แค่ที่ปอด

อัพเดทล่าสุด: 19 มี.ค. 2025
197 ผู้เข้าชม

PM 2.5 เป็นฝุ่นละออง ขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน อันตรายจากฝุ่น PM2.5 คือ เป็นตัวกลางพาสารอื่นๆ เช่น สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนัก เข้าสู่ปอด กระแสเลือด และเข้าสู่สมองได้ด้วย

ฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นมากในช่วงที่เปลี่ยนฤดูกาล จากฤดูหนาวสู่ฤดูร้อน ข้อมูลจาก WHO ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่มีค่าความเข้มข้นเฉลี่ยทั้งปีของ PM 2.5 สูงสุด

ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิด PM 2.5
1. สภาพภูมิอากาศ
    หากเป็นช่วงเวลาที่ลมสงบนิ่ง บรรดาสารพิษทั้งหลายก็จะถูกสะสมเอาไว้ในชั้นบรรยากาศ
2. การสูบบุหรี่
    บุหรี่ เมื่อเกิดการเผาไหม้จะทำให้เกิดสารเคมีกว่า 4,000 ชนิด  เมื่อเจออากาศเกิดปฏิกิริยากลายเป็นสารพิษ เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ ยิ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนมากขึ้น ก็จะจับตัวกับออกซิเจน กลายเป็น ไนโตรเจนไดออกไซด์
3. การจุดธูปเทียน
    เมื่อเราจุดธูปจะเกิดการเผาไหม้ของขี้เลื่อย กาว และน้ำหอมในธูป สารต่างๆ หลายตัว จะถูกปล่อยออกมาคล้ายกับที่พบในควันบุหรี่ และควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ เช่น  ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซซัลเฟอร์-ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และสารก่อมะเร็งหลายชนิด
4. การเผาไหม้จากแหล่งต่าง ๆ
    เช่น จากเครื่องยนต์ยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม ขยะทางเกษตรกรรม
5. การใช้เครื่องถ่ายเอกสารในกระบวนการถ่ายเอกสาร ก๊าซโอโซนเป็นก๊าซหลักที่เกิดขึ้นจากการอัดและปล่อย ประจุไฟฟ้าที่ลูกกลิ้งและกระดาษ อีกทั้งก๊าซโอโซนบางส่วนยัง        เกิดจากแสงอัลตราไวโอเลต จากหลอดไฟพลังงานสูงในเครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งก๊าซโอโซนนี้เป็นก๊าซที่มีความเป็นพิษ สูงซึ่งทำลายสุขภาพมากที่สุดในบรรดาสารหรือก๊าซอันตรายต่างๆ นอกจากโอโซนแล้ว มลพิษจากกระบวนถ่ายเอกสารที่พบมาก คือ สารประกอบอินทรีย์ระเหย VOCs (Volatile Organic Compounds)

ผลกระทบต่อร่างกาย
          เนื่องจาก PM 2.5 มีโมเลกุลเล็กมากสามารถเดินทางเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ กระแสเลือด และสมองได้ บุคคลที่สัมผัสกับฝุ่น PM2.5 เป็นเวลานานจะส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้หลายระบบ ดังนี้

1.โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอด เป็นต้น
2.โรคหัวใจและหลอดเลือด พบความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองเพิ่มขึ้นในบุคคลที่สัมผัส PM 2.5 ที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยทั้งปีที่ 9.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
3.สติปัญญา พบว่าเด็กที่สัมผัส PM 2.5 ในปริมาณมากเป็นเวลานาน ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

จากการศึกษาพบว่าคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มี PM 2.5 มากกว่าเป็นเวลา 5 ปี มีการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนโฮโมซิสเทอีน และเมไทโอนีนมากกว่า ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดความจำเสื่อม นอกเหนือจากนี้ยังมีผลต่อการเกิดโปรตีนอมัยลอยด์ในสมองส่งผลต่อการตายของเซลล์สมองเพิ่มขึ้น

การป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5
1. ใส่หน้ากากที่ป้องกันฝุ่น PM2.5  
2. ติดตั้งอุปกรณ์ลดฝุ่นละอองภายในบ้าน ต้องมั่นใจว่าภายในบ้านหรืออาคารมี การระบายอากาศ และการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการบำรุงรักษาอุปกรณ์นั้นอย่างถูกต้อง เช่น การ ล้างแผ่นกรองตามความถี่ของการใช้อุปกรณ์
3. ปลูกต้นไม้ช่วยลดมลพิษ ตัวอย่างชนิดของพรรณไม้ที่มีคุณสมบัติใน การดูดซับฝุ่นละออง และสารมลพิษทางอากาศอื่น
-ไม้ยืนต้นที่ช่วยดูดซับฝุ่นละออง ได้แก่ กระถิน มะขาม บุนนาค ชาสีทอง มะม่วง มะกอกน้ำ ขนุน
-ไม้ยืนต้นที่ช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้แก่ ได้แก่ ราชพฤกษ์ ชงโค เสลา หมากเหลือง ข่อย แคฝรั่ง ฝรั่ง เสม็ดแดง หูกวาง
-ไม้ประดับที่สามารถดูดสารพิษทางอากาศได้ดี จั๋ง พลูด่าง มะเกลือ หนวดปลาหมึก เศรษฐีเรือนใน ไทรใบเล็ก วาสนาอธิษฐาน

          ฝุ่น PM2.5 มีอันตรายต่อร่างกายในหลายระบบ ควรป้องกันตัวเองโดยการใส่หน้าการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ก่อนออกจากบ้าน และร่วมกันรณรงค์กันลดขยะ โดยนำของเก่ากลับมาใช้ใหม่ เลือกใช้ของที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลกันนะคะ

 

WeNature

Your Daily Dose of Vitality

วันดี ๆ มีได้ทุกวันด้วยวีเนเจอร์

 

เอกสารอ้างอิง
1. Giulia Grande, Babak Hooshmand, Davide Liborio Vetrano, David A Smith, Helga Refsum, Laura Fratiglioni, Petter Ljungman, Jing Wu, et al. Association of Long-term Exposure to Air Pollution and Dementia Risk. Neurology 2023 (101): 1231-1240.
2. Teerachai Amnuaylojaroen and Nichapa Parasin. Pathogenesis of PM2.5-Related Disorders in Different Age Groups: Children, Adults, and the Elderly. Epigenomes 2024(8): 13.
3.กลุ่มเฝ้าระวังฝุ่นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เรียนรู้อยู่กับฝุ่น PM 2.5.  

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy