แชร์

โรคข้อเสื่อม ใกล้ตัวกว่าที่คิด

อัพเดทล่าสุด: 19 มี.ค. 2025
164 ผู้เข้าชม
 
โรคข้อเสื่อม หรือ osteoarthritis  
          เป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากบริเวณหนึ่งของผิวกระดูกอ่อนในข้อมีการสึกกร่อน เกิดความเสียหายในบางพื้นที่ ต่อมาจะกระจายไปทั่วทั้งผิวกระดูกอ่อน และจะเกิดแรงกดต่อเนื้อกระดูกด้านล่างผิวกระดูกอ่อน ทำให้ร่างกายพยายามซ่อมแซมผิวกระดูกอ่อนของข้อ โดยเซลล์กระดูกอ่อนจะกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนไทพ์ทู (collagen type II) และโปรตีโอไกลแคน (proteoglycan) เมื่อเวลาผ่านไปเซลล์กระดูกอ่อนจะมีจำนวนลดลงหรือตายไป ส่งผลให้เกิดสารอนุมูลอิสระและสารอักเสบในข้อซึ่งเร่งการตายของเซลล์กระดูกอ่อนเพิ่มขึ้น เกิดการเสื่อมสภาพเรื้อรังของกระดูกอ่อนผิวข้อ เนื้อกระดูกข้างเคียง เอ็น แคปซูลหุ้มข้อ น้ำในข้อ และกล้ามเนื้อรอบข้อ นำไปสู่ความเจ็บปวด การเคลื่อนไหวข้อที่ผิดปกติ และกระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เป็นภาวะที่พบได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป และพบอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุ
 
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญสำหรับการเกิดโรคข้อเสื่อม
            โรคข้อเสื่อมเกิดจากหลายปัจจัย โดยอาจเกิดจากปัจจัยที่สามารถปรับแก้ไขได้หรือไม่สามารถปรับแก้ไขได้ แบ่งออกเป็น ปัจจัยภายใน เช่น เพศ พันธุกรรม อายุ น้ำหนักตัว และ ปัจจัยภายนอก เช่น อาชีพ อุบัติเหตุ โดยปัจจัยที่สามารถปรับแก้ไขได้ ได้แก่

1. น้ำหนัก
           ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 23 ควรลดน้ำหนักลงให้อยู่ในระดับใกล้เคียงมาตรฐาน หรือ อย่างน้อยร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักเดิมขณะที่มีอาการปวดข้อ เนื่องจากน้ำหนักที่มากส่งผลให้กระดูกข้อต่อรองรับน้ำหนักมากเกินไป โดยจากการศึกษาพบว่าการลดน้ำหนักลงจากภาวะน้ำหนักเกิน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 23) และภาวะอ้วน(ดัชนีมวลกายมากกว่า 25) ให้กลับมามีน้ำหนักมาตรฐานสามารถลดอาการข้อเข่าเสื่อมได้ร้อยละ 21 ในเพศชาย และร้อยละ 33 ในเพศหญิง

          หากมีลูกหลานในบ้านที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ควรให้เด็กมีกิจกรรมออกกำลังกาย เล่นกีฬา และเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยให้พลังงานที่เหมาะสมต่อวัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเสื่อมในอนาคต เนื่องจากเด็กหรือวัยรุ่นที่มีโรคอ้วนจะมีโอกาสเกิดโรคอ้วนในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น 5 เท่าเมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่อ้วน
 
 
2. อุบัติเหตุ
           จากการศึกษาพบว่าอุบัติเหตุจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเข่าเสื่อมมากถึง 6 เท่า โดยกลุ่มอายุที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุต่อข้อเข่ามากที่สุดคือ 15 ถึง 35 ปี การป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นต่อข้อจึงเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันการเกิดโรคข้อเสื่อม ซึ่งมีหลักฐานสนับสนุนว่าการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยรอบสามารถลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเข่าและข้อเท้าที่เกิดจากการเล่นกีฬาได้ในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อมวลกล้ามเนื้อที่ลดลง โดยคนที่อายุมากกว่า 30 ปี จะมีมวลกล้ามเนื้อลดลงร้อยละ 1 ต่อปี ส่งผลให้กล้ามเนื้อโดยรอบข้อน้อยลง เมื่อเกิดอุบัติเหตุอาจทำให้ข้อได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงได้
 
 
 
          แม้ว่าโรคข้อเสื่อมจะมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งอาจทำให้หลายคนกังวลเพราะเมื่อเกิดข้อเสื่อมแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือกลับสู่สภาพเดิม และอาจมีความรุนแรงมากขึ้นได้ การชะลอความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคจึงมีความสำคัญ​เพื่อป้องกันการเกิดโรคข้อเสื่อมที่มีความรุนแรง การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการลดน้ำหนัก ก็เป็นวิธีง่ายๆ ที่สามารถทำได้ตั้งแต่วันนี้กันนะคะ
 
 
WeNature
Your Daily Dose of Vitality
วันดี ๆ มีได้ทุกวันด้วยวีเนเจอร์

 
 
 
เอกสารอ้างอิง
1. J.L. Whittaker, J.Runhaar, S. Bierma-Zeinstra,  E.M. Roos. A Lifespan Approach to Osteoarthritis Prevention. Osteoarthritis and Cartilage 2021(29): 1638-1653.
2. Jos Runhaar, Sita M.A. Bierma-Zeinstra. The Challenges in The Primary Prevention of Osteoarthgritis. Clin Geriatr Med 2022(38): 259-271.
3. Wacharapol saengsiwaritt, Patchana Ngamtipakon, Wanvisa Udomsinprasert. Vitamin D and Autophagy in Knee Osteoarthritis: A Review. International Immunopharmacology 2023(123): 110712.
 

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy